การตอบสนอง ของ เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553

การตอบสนองในสังคมออนไลน์

อุบัติเหตุครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นสนทนาเป็นอันมากในสังคมออนไลน์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่พยายามค้นหาประวัติของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา และส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นเชิงลบ รุมประณามการที่อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับรถโดยประมาทและในวัยสิบเจ็ดปีเท่านั้น ตลอดจนกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ดำเนินคดี ต่างก็คาดเดากันว่า เนื่องจากอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นลูกหลานราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา จึงหลุดพ้นคดีได้[33][24] มีผู้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ และตั้งหัวข้อสนทนา เป็นหลายประการ อาทิ ในพันทิปดอตคอม มีหัวข้อว่า "ขอประณามการกระทำคุณแพรวา และครอบครัว"[34], "ตกลงใครเป็นคนขับชนกันแน่...รถตู้โดนซีวิคชนท้าย คนตกทางด่วน ตายเกลื่อน"[35] และ "มาดูหลังภาพรถเก๋งและคนขับหลังจากเกิดเหตุการณ์"[36] เป็นต้น อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาก คือ กรณีที่สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ แถลงว่าคนขับรถตู้ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น มีผู้แสดงความคิดว่า "นายสมบัติ วงศ์กำแหง มึงดูภาพจากล้องหรือยัง ถ้ามึงขับมาดี ๆ ไม่เร็ว ขับปรกติ แล้วรถมาชนตูดมึง รถมึงหมุน ลูกมึงกระเด็นมาตายนอกรถ มึงว่ามึงผิดไหม แล้วมึงต้องจ่ายค่าเสียหายรถที่ขับมาชนตูดมึงไหม...." เป็นอาทิ[37][38]

ส่วนประชาคมธรรมศาสตร์บนเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นทำนองเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ตายซึ่งเป็นเพื่อนและอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัย และประสงค์ให้ตำรวจไทยกล้าหาญทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เกรงกลัวอิทธิพลของราชสกุล บางคนว่า "มันช่างตลกร้าย นักกฎหมายแท้ ๆ ที่ตาย แต่คนชนกลับหลุดรอดกฎหมายไปได้...", "เด็กผู้หญิงอายุสิบเจ็ด ไม่มีใบขับขี่ ขับรถเก๋งบนทางด่วนด้วยความเร็วสูงตอนสี่ทุ่ม ผู้ปกครองปล่อยมาได้อย่างไร" และ "เด็กไม่ได้ตั้งใจ แต่มีคนเจ็บคนตายนะ เด็กควรขอโทษ พ่อแม่ครอบครัวเด็กมีฐานะ น่าจะแสดงความรับผิดชอบหรือแสดงถึงน้ำใจและความรู้สึกเสียใจต่อการกระทำของเด็กสักนิด" เป็นต้น[24][39]

การสกัดกั้นการเข้าถึง โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นอกจากนี้ ในเว็บบล็อกดรามา-แอดดิกต์ดอตคอม มีการเผยแพร่บทความเรื่อง "[รายงานพิเศษ]ไฮโซแปดศพ!!" นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยที่ไม่เป็นกลางและเชื่อถือได้น้อย และเกี่ยวกับอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เอง[40] ส่วนในเฟซบุ๊กก็มีการตั้งโครงการ "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวา (อรชร) เทพหัสดิน ณ อยุธยา" มีชาวเฟซบุ๊กจำนวนมากเข้าได้ไปสนทนาในทางด่าว่าอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นข้อหยาบคายต่าง ๆ[39] ซึ่งซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง[41] โครงการดังกล่าวก็มีผู้เข้าเป็นสมาชิกถึงหนึ่งแสนแปดหมื่นคน และในเช้าวันที่ 29 ธันวาคม 2553 มีนักเลงคอมพิวเตอร์เจาะเข้าไปในเว็บไซต์ "ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา" แล้วเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นว่า "ฆาตกรแพรวา เทพหัสดิน ณ วิภาวดี เก้าศพ"[42] แต่ไม่ช้า เหล่าเว็บไซต์ที่กล่าวมาก็ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสกัดกั้นการเข้าถึง โดยเปลี่ยนทางไปยังหน้า "118.175.8.61" อันปรากฏข้อความว่า "การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน" แม้อันที่จริง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้นสุดลงเมื่อราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนแล้วก็ตาม[24] เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ชาวไซเบอร์ส่วนหนึ่งกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่กล้าดำเนินคดีกับคนผิด หากแต่ช่วยปกป้องเพราะเห็นแก่ราชสกุล บ้างก็กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐถูกอิทธิพลครอบงำ[33]

อย่างไรก็ดี มีสมาชิกอีกกลุ่มในสังคมออนไลน์เชิญชวนให้เพื่อนสมาชิกหมั่นใช้วิจารณญาณ และระงับสติอารมณ์ บางคนแสดงความคิดเห็นว่า "เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนหนึ่ง จะมากน้อยไม่รู้ มีความเก็บกดทางความคิดและอารมณ์ โดยเฉพาะในประเด็นความไม่ทัดเทียมกันในสังคมที่มีให้เห็นอย่างดาษดื่น" และ "...คนส่วนใหญ่มีการศึกษาและเข้าถึงข่าวสาร แต่กลับใช้อารมณ์ตัดสินและแต่งเติม" เป็นต้น[24][39]

เวลา 19:00 นาฬิกาของวันเดียวกัน ชาวเฟซบุ๊กจากโครงการ "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวา (อรชร) เทพหัสดิน ณ อยุธยา" ข้างต้น ราวห้าสิบคน นัดรวมตัวกันและเดินเท้าจากหน้าโรงพยาบาลวิภาวดี ไปยังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ใต้ทางยกระดับอุตราภิมุขจุดเกิดเหตุ แล้วจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้ตาย ทั้งกล่าวด้วยว่าจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปจนกว่าอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยาจะได้รับการลงโทษตามกฎหมาย มีรายงานข่าวว่า ประชาชนที่ผ่านไปมาหยุดดูด้วยความสนใจ[43]

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 พลตำรวจตรีประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนชาวไซเบอร์ให้ระมัดระมัดในการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ เพราะอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ เนื่องจากขณะนั้น อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังไม่มีสถานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา[20]

อนึ่ง สถิติจากกูเกิลเจาะลึกการค้นหา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2554 ยังพบว่า ในช่วงปลายปี 2553 ถึงวันดังกล่าว คำสำคัญที่เกี่ยวกับอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา อาทิ "อรชร เทพหัสดิน," "เทพหัสดิน ณ อยุธยา," "แพรวา อรชร" และ "น.ส.อรชร" ได้รับความนิยมใช้ค้นหาในกูเกิลมากถึงร้อยละร้อย ขณะที่คำสำคัญอย่าง "ข่าวอรชร เทพหัสดิน," "ชนรถตู้," "น.ส.อรชร," "ประวัติอรชร เทพหัสดิน" และ "แพรวา" เป็นต้น กำลังได้รับความนิยมใช้มากขึ้นโดยลำดับ ขนาดที่กูเกิลเจาะลึกการค้นหากล่าวว่าเป็น "ดาวรุ่งพุ่งแรง"[44]

การตอบสนองจากรัฐ

ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกควบคุมการให้บริการรถตู้ทันทีหลังเหตุการณ์ครั้งนี้

วันที่ 28 ธันวาคม 2553 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออก "ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ข้อกำหนดในการให้บริการรถตู้โดยสารที่มีสถานีรับส่งผู้โดยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2553" สาระสำคัญเป็นข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการรถตู้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องจัดให้ผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย ถ้ามีผู้โดยสารไม่คาด ห้ามออกรถเป็นอันขาด กับทั้งกำหนดความเร็วรถและเส้นทางของรถ ห้ามพนักงานที่เมา เมาค้าง อ่อนเพลีย หรือไม่พร้อมทำหน้าที่ เช่น เพิ่งหายป่วย หรืออดนอน ขับรถโดยเด็ดขาด ตลอดจนกำหนดให้ติดเลขหมายโทรศัพท์ของรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปไว้ในรถทุกคัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการร้องเรียนได้โดยพลัน ประกาศนี้ให้ใช้บังคับทันที[33]

วันที่ 29 ธันวาคม 2553 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ออก "แถลงการณ์สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 1) กรณีอุบัติเหตุบนดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อ 27 ธันวาคม 2553 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2553" เนื้อใหญ่ใจความ เป็นการแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบเหตุ, เรียกร้องให้อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แสดงความรับผิดชอบ ตลอดจน เรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจมีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวอิทธิพล และเป็นกลาง

บ่ายวันนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าเกี่ยวกับประเด็นที่สัมคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีนี้ว่า "...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่มีใครสิทธิพิเศษ ก็ต้องมีการติดตามคดีอย่างเต็มที่ ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะคนขับที่เป็นต้นเหตุอายุแค่ 16 ปีนั้น...นี่แหละคือสิ่งที่เราพยายามอย่างมากขณะนี้ คือ หนึ่ง การเคารพกฎหมาย สอง ความไม่ประมาท อันนี้เป็นจุดอ่อนมาโดยตลอด และ สาม เราจะต้องเข้มงวดกวดขันมากขึ้น"[45] และกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเรียกเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องให้เข้าชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นเดียวกัน ในวันที่ 5 มกราคม 2554[46]

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดตั้ง "กลุ่มเฝ้าระวังอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เพื่อจับตาความปลอดภัยของชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[38] ในโอกาสเดียวกัน สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงว่า[47]

"...ที่มีหลายฝ่ายเกรง ว่าผู้กระทำผิดจะรอดจากคดีนี้ เนื่องจากเป็นผู้เยาว์ และนามสกุลดังนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งทีมนักกฎหมายที่ดีที่สุด ของมหาวิทยาลัยไปดูแล ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา รวมทั้งทนายความจากศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามคน และนิติกรจากสำนักนิติการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกสองคน ไปช่วยดูแลคดี โดยที่ญาติ ๆ ของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไม่ต้องจ้างทนายความเองทั้งคดีแพ่งและ คดีอาญา..."

พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้กำชับพันตำรวจโทฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง เจ้าของคดี ให้ตรงไปตรงมา และขอให้สังคมมั่นใจว่าคดีจะไม่เงียบหาย อนึ่ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังสั่งให้พันตำรวจโทชัยวิณ เสมาทอง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, พันตำรวจโทวันนพ สมจินตนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 5 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และพันตำรวจโทพงศพร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสืบสวนและสะกดรอย กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าติดตามการทำงานของพันตำรวจโทฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง อย่างใกล้ชิดด้วย[47]

ในช่วงเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มีดำริจะออกกฎกระทรวงบังคับให้ผู้โดยสารรถตู้และรถประจำทางสาธารณะทั่วประเทศต้องคาดเข็มนิรภัยทุกคน ขณะที่ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนให้ดี เกรงว่าในกรณีที่เพลิงไหม้ ผู้โดยสารอาจตายคารถ เพราะปลดเข็มขัดไม่ทัน[45] เขาเห็นว่า ควรที่จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มากกว่าคอยออกกฎระเบียบ[8]

รัฐยังได้อำนวยพิธีศพของผู้ตายบางคนด้วย อาทิ วันที่ 2 มกราคม 2554 เวลา 16:00 นาฬิกา อิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีศพของสุดาวี นิลวรรณ ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และประชาชนร่วมงานคับคั่ง เวลาเดียวกันนั้น สุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพของศาสตรา เช้าเที่ยง ณ วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี[48] และในเวลาไล่เลี่ยกัน ทวีศักดิ์ กออนันต์ตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ก็เป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพของอุกฤษฏ์ รัตนโฉมศรี ณ วัดบางพระราชวรวิหาร ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี[49]

การตอบสนองจากครอบครัวเทพหัสดิน ณ อยุธยา

นับแต่เกิดเหตุเป็นต้นมา อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา และครอบครัวยังคงเก็บตัวเงียบ ในขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายในอุบัติครั้งนี้ต่างเรียกร้องให้อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แสดงความรับผิดชอบบ้าง อาทิ สะโอด ซิมกระโทก บิดาของจันจิรา ซิมกระโทก ผู้ตาย ว่า "...อยากให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจทำคดีอย่างตรงไปตรงมา...และอยากให้คู่กรณีออกมาแสดงความรับผิดชอบบ้าง ให้มีน้ำใจต่อกันบ้าง สำหรับตอนนี้ ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบหรือให้ความช่วยเหลืออะไรเลย" ขณะที่ปิยะวรรณ ซิมกระโทก มารดาของจันจิรา ซิมกระโทก ว่า "...ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่เรียกร้องเรื่องเงิน แต่ให้คนที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบบ้าง แค่แสดงความเสียใจก็ยังดี แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทำอะไรเลย"[50]

กระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ลัดดาวัลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มารดาของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แถลงว่า ที่ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เพราะต้องการให้กระแสของอารมณ์ในสังคมคลี่คลายลงเสียก่อน และยืนยันว่าจะไม่หนีไปไหน เธอยังกล่าวด้วยว่า "...ลูกสาวยอมรับว่าขับรถเร็ว เพราะจะรีบเอารถไปคืนเพื่อน รถไม่ใช่ของเรา ดิฉันไม่เคยอนุญาตให้ลูกขับรถไปข้างนอกแบบนั้น...ลูกสาวผิดแน่ที่อายุสิบเจ็ดไม่มีบัตร [ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์] แพรวารีบกดบีบี [แบล็กเบอร์รี] บอกเพื่อนว่ารถชน และถามเรื่องประกันของรถคันนี้ ไม่ใช่มัวเล่นบีบีตามที่บางท่านเข้าใจ...ถ้าน้องผิดจริง เราก็ยินดีให้น้องเข้ากระบวนการทุกอย่าง"[47]

พันเอกรัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา บิดาของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา กล่าวเสริมว่า "...กระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กล่าวว่าลูกสาวเส้นใหญ่ หรือมีการปิดสื่อ ไม่โกรธที่จะมีใครคิดอย่างนั้น เพราะว่าใครเห็นนามสกุลของตระกูล ก็สามารถคิดได้ทั้งนั้น แต่ไม่เคยมีพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชน เพราะตั้งแต่เข้ารับราชการกระทั่งลาออก ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี ไม่เคยเล่นเส้นสายหรือทุจริตแต่อย่างใด..."[51] ค่ำวันเดียวกัน ครอบครัวเทพหัสดินมีหนังสือแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอวยพรปีใหม่ตบท้าย[52] ครั้นวันถัดมา อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ให้สัมภาษณ์ว่า จำไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ทว่า ในคำสัมภาษณ์ช่วงหลังปรากฏถ้อยคำว่า "...ถ้าหนูไม่ขับเร็วในวันนั้น เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น..." อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยากล่าวด้วยว่า ที่ใช้แบล็กเบอร์รี ก็เพื่อแจ้งพวกพ้องให้ทราบถึงเหตุการณ์และเรียกบริษัทประกัน หาได้สนทนากับเพื่อน หรือเพิ่มเติมเนื้อหาในหน้าเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ของตน แต่ประการใดไม่ และทิ้งท้ายว่า หลังเหตุการณ์เธอจะไปบวชชี[3] บ่ายวันเดียวกัน เธอและครอบครัว เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บทั้งห้าคน พร้อมให้ขนมเปี๊ยะเป็นกำนัลคนละกล่อง[53]

วันที่ 1 มกราคม 2554 เวลา 15.00 นาฬิกา ลัดดาวัลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มารดาของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เดินทางไปยังวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อขอขมาศพศาสตรา เช้าเที่ยง และกราบเท้าถวิล เช้าเที่ยง มารดาบุญธรรมของศาสตรา เช้าเที่ยง สามครั้ง พร้อมกล่าวขอโทษด้วยน้ำตานองหน้า และมอบเงินสามหมื่นบาทให้เป็นค่าปลงศพ ในโอกาสนี้ เธอยังแถลงว่าได้ประสานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบเหตุทุกรายแล้ว[54] วันที่ 2 มกราคม 2554 พันตำรวจเอกศรัญ นิลวรรณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บิดาของสุดาวดี นิลวรรณ ผู้ตาย กล่าวว่า ไม่เคยมีใครติดต่อมา และไม่สนใจว่าใครจะติดต่อมา สิ่งเดียวที่เขาสนใจคือการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่บุตร[48]

วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 หลังมีข่าวว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์ตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขออย่าเหมารวมทั้งวงศ์ตระกูล โดยว่า "ต้นตระกูล เทพหัสดิน เป็นนามสกุลพระราชทาน และที่ผ่านมาก็มีบรรพบุรุษหลายคนที่ทำคุณงามความดีรับใช้ให้ชาติ" พร้อมว่า หากมีการพาดพิงจะฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[55]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 http://118.175.8.61/ http://www.bangkokpost.com/breakingnews/213487/rel... http://www.bangkokpost.com/news/local/213378/eight... http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/213543/... http://ireport.cnn.com/docs/DOC-534734 http://old.dek-d.com/board/view.php?id=2017786 http://www.facebook.com/photo.php?fbid=16032819068... http://www.go6tv.com/2010/12/blog-post_29.html http://www.google.com/insights/search/?hl=th#q=%E0... http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?new...